สังคมศาสตร์ มาถึงทางตันแล้ว จริงหรือ?

จากข่าวนี้ ศธ.ขอมหาวิทยาลัยลดบัณฑิตสังคมศาสตร์ หวั่นปัญหาว่างงาน

ซึ่งสรุปได้ว่า
 
– รัฐบาล บอกว่า ไม่ได้ตัดงบประมาณอุดหนุนสาขาสังคมศาสตร์ แต่ขอให้มหาวิทยาลัยลดบัณฑิตด้านสังคมศาสตร์ลงต่างหาก
 
– รัฐบาลบอกว่า Thailand 4.0 เราอยากได้บัณฑิตในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หุ่นยนต์และดิจิทัล มากกว่า
 
– รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ก็เสริมว่า ถูกต้อง เราขาดแคลนบุคลากรด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่กลับพบบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์ สูงถึง 66% ซึ่งส่วนใหญ่อาจกำลังประสบปัญหาการว่างงาน จะดีมากถ้ามหาลัยปรับลงให้เหลือสัก 30-40 % เพราะงบอุดหนุนมีจำกัด
 
ถ้าถามพี่นะ บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราไม่ได้ขาดขนาดนั้นหรอก แต่ที่เราขาดจริงๆ คือ คนคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างหาก

สังคมศาสตร์ในอนาคต

เป็นความจริงที่ว่าปัจจุบันตลาดงานด้านเทคโนโลยีขยายไปเร็วมาก แต่ก็อย่าลืมว่า ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีบริสุทธิ์อีกต่อไป แต่เป็นการบูรณาการศาสตร์ต่างๆเข้าด้วยกัน ซึ่งการจะทำให้สำเร็จจำเป็นต้องมีคนด้านสังคมศาสตร์ ที่เก่งมากๆในระดับอัจฉริยะเลย ยกตัวอย่างเช่น
 
1. เรามีหุ่นยนต์ที่ทำงานทื่อๆแล้ว แต่อนาคตเราต้องการหุ่นยนต์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ เข้าใจสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งจะเกิดเป็นศาสตร์ชื่อ Human-Robot Interactions การจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ จำเป็นใช้ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ชั้นสูง
 
2. เศรษฐกิจดิจิทอลมีการเติบโต ทรัพย์สินในโลกเสมือนมีมูลค่าขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ นั่นจะทำให้เกิดเศรษฐศาสตร์แบบใหม่ เป็นเศรษฐศาสตร์ในโลกเสมือนจริง
 
3. เมื่อโลกดิจิตอลมีการเติบโต การก่ออาชญากรรมด้านดิจิตอลก็สูงมากตามไปด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมี เทคโนโลยีด้านอาชญาวิทยาใหม่ๆ เพื่อสู้กับอาชญากรดิจิตอลที่เพิ่มขึ้นและซับซ้อนขึ้นในทุกๆวัน
 
4. หากใครตามข่าว คงได้ยินข่าว การทดลองด้าน AI ชื่อดัง ที่นำปัญญาประดิษฐ์มาเรียนรู้กฏหมายและฎีกาต่างๆ จากนั้นตัวอย่างคดีไปให้ AI ตัดสินคดี ปรากฏว่าตัดสินตรงกับผู้พิพากษาคดีถึง 79% นอกจากนี้เทคโนโลยี blockchain จะเปลี่ยนการสืบและเก็บข้อมูลคดีต่างๆอีกด้วย อนาคต เราอาจมีผู้พิพากษาที่เป็น AI ก็ได้ (แต่จะทำสำเร็จได้ ก็ต้องมีนิติกรช่วยพัฒนา จริงไหม?)
 
5. หาก elon musk กับโปรเจค space X พามนุษย์ไปตั้งนิคมบนดาวอังคารสำเร็จ อนาคต รัฐศาสตร์ คงไม่จำกัดอยู่แค่ชาติ แต่จะขยายไปถึงนิคมต่างดาวที่มนุษย์สร้างขึ้น ไหนจะพรมแดนใหม่ในโลกออนไลน์ที่ดินแดนไม่อาจขวางกั้น ไหนจะการอยู่ร่วมกันในรัฐแบบใหม่ระหว่างคนและหุ่นยนต์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีรัฐศาสตร์แนวใหม่ มาดูแลความซับซ้อนใหม่ๆที่เกิดขึ้นเหล่านี้
 
6. จำข่าว facebook ประกาศความล้มเหลวในงานวิจัย AI 2 ตัว ที่ชื่อ Bob และ Alice ได้ไหมครับ facebook ตั้งใจสร้างมันขึ้นมาเพื่อให้คุยกับมนุษย์ แต่สุดท้ายมันดันคิดภาษาใหม่ขึ้นมาคุยกันเองแทน ดังนั้น ภาษาศาสตร์ในอนาคต จึงอาจไม่ได้จำกัดอยู่มนุษย์ในโลก แต่อาจรวมถึงภาษาระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ด้วย
 
7. startup ในอิสราเอล กำลังพยายามสร้างชิบ ที่เหมือนกับชิบช่วยจำในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ แต่จะเอามาใช้กับคนจริงๆแทน ด้วยแนวความคิดที่ว่า อนาคต มนุษย์คงแพ้ AI แน่ๆ ดังนั้น แทนที่เราจะสู้กับมัน เราควรรวมเป็นหนึ่งเดียวกับมัน โดยฝัง AI เข้าไปในสมองมนุษย์ไปเลยดีกว่า จากนั้นเราก็สั่งการมันด้วยจิตของเราเนี่ยแหละ หมดปัญหา ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้เกิด จิตวิทยา-ศาสนา แนวใหม่ ที่เกี่ยวกับการอัพโหลดจิตใจ ความรู้สึก เข้าไปใน AI ด้วย
ในอนาคตมนุษย์คนหนึ่งอาจเป็นอมตะ แต่เป็นอมตะในรูปแบบของโปรแกรม AI ที่มีจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด เหมือนคนๆนั้นทุกประการ
 
อาจฟังดูหลุดโลก แต่เรื่องพวกนี้ กำลังเกิดขึ้นจริงๆในโลกของเรา ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมาก และทั้งหมดนี้อาจไม่ได้สำเร็จทุกเรื่อง แต่ก็น่าจะพอเห็นแนวทางว่า ศาสตร์ทางสังคมศาสตร์ จะโตต่อไปได้อย่างไร ในโลกอนาคตนี้ครับ
 
ขอบคุณแนวคิดจาก https://www.facebook.com/smartfarmthailand/posts/670066476501826
 
 

Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *