ต้นทุนทางสังคมกับประเด็นด้านวิชาชีพ

พอดีได้อ่านบทความเรื่อง นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภาชี้คดีฟ้องหมอพุ่ง หวั่นอนาคตระบบสาธารณสุขไทยกำลังจะเจ๊ง แล้วอดพูดถึงประเด็นนี้ไม่ได้

สองบรรทัดฐานกับวิชาชีพ

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า มนุษย์เราใช้บรรทัดฐาน 2 อย่าง ในการตัดสินเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ

อย่างแรกคือ บรรทัดฐานทางการตลาด อะไรที่มีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง เราจะใช้บรรทัดฐานทางการตลาดในการตัดสินใจ เช่น น้องซื้อของ 1 ชิ้น น้องจ่ายเงินให้แม่ค้า น้องใช้บรรทัดฐานทางการตลาด มันชัดเจน ตรงไปตรงมา น้องจ่าย ได้ของคือถูก ชักดาบคือผิด แต่มันไม่อบอุ่นเอาซะเลย

อย่างที่สองคือบรรทัดฐานทางสังคม เช่น น้องช่วยติวสอบให้เพื่อนที่อ่านหนังสือไม่ทัน มันช่างอบอุ่น เปี่ยมล้นด้วยมิตรภาพ แต่มันคลุมเคลือ และไม่ชัดเจน ดูไม่ออกว่าอันไหนถูก อันไหนผิด

แต่ถ้ามีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้องเมื่อไหร่ น้องจะใช้บรรทัดฐานทางการตลาดทันที เช่น เมื่อไรที่น้องคิดค่าจ้างติวเพื่อน จากความอบอุ่นแบบการช่วยเหลือเกื้อกูล จะกลายเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่มีผลตอบแทนและความคุ้มค่าในทันที

วิชาชีพทุกวิชาชีพ เกิดขึ้นมาได้ด้วยต้นทุนทางบรรทัดฐานของสังคม สังคมพร้อมใจมอบเกียรติยศ ชื่อเสียง ศรัทธา ฐานะทางสังคมให้ผู้ปฏิบัติวิชาชีพ แลกกับการที่ผู้นั้นตั้งใจทำงาน ศึกษาเฉพาะด้าน และเสียสละให้แก่สังคม

เมื่อโลกทุนนิยมเข้ามาย่างกราย การศึกษาแบบช่วยเหลือเกื้อกูลเชิงอุปถัมป์ ก็กลายเป็นเชิงพาณิชย์ การแพทย์ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ผู้ป่วย เริ่มมองว่า ค่ารักษาพยาบาลคือเงินที่ตนเองจ่าย หรือไม่ก็เป็นภาษีที่ตนเองจ่าย สมควรได้รับการรักษาอย่างคุ้มค่าและถูกต้อง หากผิดพลาดต้องมีการเรียกร้องค่าเสียหาย ตัวหมอเองก็มีแพทย์พาณิชย์ ที่เน้นการรักษาพยาบาลเพื่อเงินเป็นหลักมากขึ้น เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้บรรทัดฐานทางการตลาดเข้ามาแทนที่บรรทัดฐานของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ผลคือ เส้นแบ่งระหว่างคนไข้กับหมอคลุมเคลือและบางลง นำไปสู่การกระทบกระทั่งกันบ่อยขึ้น และรุนแรงมากขึ้นในที่สุด


Share this:

Posted in บทความ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *